22 March 2010

แนวโน้มการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทย

ภาษาไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และภาษายังเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แต่เรากลับพบว่า วิชาภาษาไทยที่มีความสำคัญยิ่งนี้ กลับมีคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนที่ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ตั้งไว้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สำรวจนักเรียนเพื่อวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาภาษาไทย จากทุกเขตพื้นที่การศึกษาพบว่า มีนักเรียนจำนวนถึง ร้อยละ 12.45 มีปัญหาด้านการอ่าน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความห่วงใยของสังคมไทยโดยทั่วไปที่พบว่า นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บางคนยังอ่านเขียนไม่คล่อง นักเรียนระดับมัธยมศึกษาบางคนมีปัญหาเรื่องความเข้าใจการอ่านและความอ่อนด้อยเรื่องของการเขียน หรือแม้กระทั่งนักเรียนบางคนบอกว่าเบื่อในวิชาภาษาไทย หรือแม้กระทั่งผู้จบระดับอุดมศึกษาบางคนยังมีความสามารถทางภาษาไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติงาน คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ตระหนักในคุณค่าภาษาไทย มีผู้สนใจเรียนรู้ภาษาไทยให้ลึกซึ้งและแตกฉานน้อยมาก และโดยเฉพาะในการสอบ ข้อสอบมักจะเน้นสิ่งที่ต้องอ่านแล้วคิดวิเคราะห์ให้ได้ว่าคำถามนั้นต้องการคำตอบอย่างไร แต่จากสถิติและการวิจัยของสำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) พบว่าเด็กทำข้อสอบไม่ค่อยได้เนื่องจากขาดการฝึกเรื่องของการคิดวิเคราะห์
เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่พัฒนามาจาก ที่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ให้เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะที่พึง ประสงค์ ข้อที่ 2 ที่เน้นเรื่อง ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
จากสาเหตุนี้กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย โดยมีเป้าประสงค์ที่จะเร่งรัดส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถภาษาไทยในระดับที่สูงขึ้น มีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นเพื่อการแสวงหาความรู้และการประกอบอาชีพ รวมทั้งเห็นความสำคัญและร่วมอนุรักษ์ภาษาขึ้น

เมื่อประมวลปัญหา และสาเหตุทั้งหมดดังกล่าว ในปัจจุบัน ได้เกิดการตื่นตัวในแวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง มีกลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษาจากหลากหลายหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เรื่องของยุทธศาสตร์ และกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย และปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอน ในหัวข้อการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย โดยให้ความสำคัญ เรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนว่า การสอนให้เด็กท่องจำหรือคิดวิเคราะห์ ทิศทางที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบัน ให้ความสำคัญของการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เด็กไทยเรียนแบบคิดวิเคราะห์ หากจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เชิงคิดวิเคราะห์มากขึ้น รวมทั้ง หลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องเน้นหนักเรื่องการทำให้เด็กเรียนรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพก่อน เพราะทักษะทางภาษาจะนำพาเด็กไปสู่ระบบการคิดวิเคราะห์ได้ดี ดังนั้นหากแก้ปัญหาส่วนนี้ไม่ได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ก็ไม่เกิด ซึ่งทุกวันนี้สถานศึกษาให้ความสนใจกับทักษะทางภาษาน้อยมาก และข้อสอบวัดประเมินผลเด็กก็จะเน้นแต่ข้อสอบปรนัย ส่งผลให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ต่ำเหล่านักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่าต้องทำพร้อมกันทั้งสองส่วน คือทั้งท่องจำ และการคิดวิเคราะห์ไปด้วยกัน แต่ต้องเพิ่มเนื้อหาในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ให้เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่การสอนคิดวิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
ดังนั้นในมุมมองของข้าพเจ้า แนวโน้มในการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จึงควรที่จะพัฒนาทั้ง ครู และนักเรียน โดยออกมาในรูปของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
แนวโน้มในการพัฒนาครู
บริบทของการพัฒนาครูผู้สอนในวิชาภาษาไทย มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการเรียนการสอนที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียน ดังนี้
1. ต้องพัฒนาครูผู้สอนให้เห็นความสำคัญ และเอาจริงเอาจังในการจัดการเรียนการสอน เพื่อแก้ไขปัญหาของนักเรียนที่เกิดขึ้น โดยการส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย อย่างมีคุณภาพรอบด้าน ทั้งด้านการจัดเตรียมเนื้อหาในการเรียนรู้ ที่ทันยุคทันสมัย การจัดหาจัดสร้างสื่อวัสดุอุปกรณ์เพื่อช่วยสร้างความน่าสนใจในการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศและแหล่งเรียนรู้ ฯลฯ
2. ต้องพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความนำสมัย เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการสื่อสารกับผู้เรียน ผ่านระบบการเรียนแบบออนไลน์ การใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลที่มีมากมายมหาศาลบนโลกแห่ง www. ซึ่งเป็นโลกแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดน
3. ต้องพัฒนาทักษะของครูเรื่องของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งครูต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ก่อน จึงจะสามารถสอนผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วย
4. ต้องพัฒนาครูในเรื่องของการวัดประเมินผล การออกข้อสอบที่มีระดับของความรู้ ที่พัฒนาการหลายขั้น ตั้งแต่ ความรู้ความจำ เข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และถึงขั้นประเมินค่า โดยมุ่งเน้นด้านการคิดวิเคราะห์เป็นอย่างต่ำ เพราะบางครั้งครูก็ออกข้อสอบที่เน้นแต่ความจำเพียงอย่างเดียว หรือนำข้อสอบที่คิดวิเคราะห์ให้ครูทำครูบางท่านก็ทำไม่ได้เนื่องจากขาดทักษะ
5. ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้การทำวิจัยในชั้นเรียนเกี่ยวกับภาษาไทย เพื่อแก้ปัญหาการเรียนวิชาภาษาไทยให้กับนักเรียนได้ตรงกับปัญหาของแต่ละบุคคล เช่นนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก จะมีกิจกรรม หรือวิธีการใดเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง เป็นต้น
แนวโน้มในการพัฒนานักเรียน
นักเรียนที่จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป แน่นอนต้องได้รับการพัฒนาในสิ่งที่เขาจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคต นำภาษาไปเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถต่างๆดังนี้
1. ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถของนักเรียนในเรื่องของทักษะการอ่าน และการเขียน เป็นสำคัญยิ่ง เพราะ เมื่อนักเรียนอ่านได้ เขียนได้ สื่อสารได้ถูกต้อง จะนำไปสู่ประโยชน์ของเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ และเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต
2. ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถของนักเรียนด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับการท่องจำ เพราะภาษาไทยต้องอ่านต้องจำ และต้องวิเคราะห์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน ที่ต้องมีการคิดอย่างลึกซึ้ง เมื่อนักเรียนมีความรู้ความชำนาญด้านการคิดวิเคราะห์ นักเรียนจะสามารถคิดพิจารณา สิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ ไปสู่การเรียนวิชาอื่นๆได้อย่างดียิ่ง ซึ่งกิจกรรมที่ครูสามารถ สอนเพื่อส่งเสริมนักเรียนด้านการคิดวิเคราะห์สามารถทำได้อย่างหลากหลาย เช่น การทำโครงงานทางภาษา การสืบค้นและประมวลความรู้ การฝึกการถามการตอบแบบวิเคราะห์ เป็นต้น
3. ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนานักเรียน ให้เห็นคุณค่าของภาษาไทย ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อนุรักษ์ภาษาไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทย เพราะหากนักเรียนใช้แต่คำภาษาต่างประเทศที่ล้ำสมัยไม่ว่าจะเป็นภาษอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ที่เข้ามาอย่างกับน้ำไหลจากการสื่อสารทางเทคโนโลยีสารเทศ หรือแม้กระทั่งค่านิยมของการชื่นชมศิลปินต่างประเทศ ฯลฯ โดยหลงลืมความเป็นไทย เราจะไม่มีภาษาไทยใช้ในอนาคต นักเรียนก็จะเขียนและใช้ไม่ถูกต้อง กิจกรรมที่ทำ อาทิเช่น รณรงค์การเขียนตัวอักษรไทยให้ถูกต้องตามรูปแบบ การใช้ภาษาไทยให้ถูก กาลเทศะ บุคคล ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน
เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญ และระดมช่วยกันคิดแนวทางในการแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารระดับสูง หน่วยงานทางการศึกษา นักการศึกษา แต่แนวความคิดนี้จะไม่เกิดผลเลย หากครูผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำแนวความคิดเหล่านี้ออกมาสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เกิดความรู้สึกร่วม ในการที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนากระบวนการเรียนการสอน พัฒนาทักษะกระบวนการทางภาษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง เด็กไทย......ฝากไว้กับท่านทุกคน..... ครูภาษาไทยที่รัก


อ้างอิงจาก
- http://www.ryt9.com/s/cabt/408212
- http://www.pantown.com/group.php?display=content&id=36749&name=content31&area=3
- http://gotoknow.org/blog/auon10/152428
- กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
- หนังสือพิมพ์ แนวหน้า การแก้ปัญหา ทักษะการคิด วิเคราะห์ เด็กไทย 11 ก.ย. 2552 .

No comments: