22 March 2010

ประสิทธิภาพของการประเมินเพื่อประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้

กระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นความมุ่งหวังของหลักสูตรการศึกษาใน ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ได้กำหนดชัดเจน ทั้งเป้าหมายของหลักสูตรในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจน รวมทั้งมาตรฐานการเรียนรู้ จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร จะสอนอย่างไร และจะประเมินอย่างไร คุณภาพดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนภาพการจัดการศึกษาว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่มาตรฐานการเรียนรู้กำหนดเพียงใด
การประเมินผลการเรียนรู้ มีความสำคัญยิ่งต่อการจัดการศึกษา เนื่องจากการประเมินผลการเรียนรู้ คือการแสวงหาและการแปลความหมายของหลักฐานข้อมูลที่ได้จากการประเมิน เพื่อที่ เพื่อที่จะทราบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่เพียงใด เพื่อให้ครูและนักเรียนนำข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้ในการตัดสินใจให้กับผู้เรียนว่าจะเรียนรู้สิ่งใด และทำอย่างไรให้ดีที่สุด รวมทั้งใช้ข้อมูลการประเมินผลไปใช้พิจารณาในการวางแผนพัฒนาการเรียนรู้ จึงจำเป็น ต้องมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นผู้สอนจึงต้องตระหนักว่าการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลเป็นกระบวนการเดียวกันและจะต้องวางแผนไปพร้อมๆกัน ซึ่งเมื่อครูได้มีการวางแผนในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพแล้วควรต้องวางแผนเรื่องของการวัดประเมินผลควบคู่กันไป
ในอดีตที่ผ่านมา การวัดและประเมินผลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อสอบ ซึ่งไม่สามารถสนองเจตนารมณ์การเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนคิด หรือลงมือปฏิบัติด้วยกระบวนการหลากหลายเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทั้งนี้หลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดของการประเมินผลการเรียนรู้ก็คือการประเมินผลจะช่วยผู้เรียนในการปรับปรุงการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนควรมีโอกาสได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงการเรียนของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษไทย เรื่องของการแต่งคำประพันธ์ และจัดให้มีการประเมินผล โดยให้นักเรียนแต่งคำประพันธ์ เมื่อครูประเมินผลงานที่ได้จากการเรียนรู้ พบว่า ผู้เรียนกลุ่มที่ 1 จำนวน 50 % สามารถแต่งได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์และเลือกสรรถ้อยมาใช้คำได้อย่างเหมาะสม ผ่านตามเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ และข้อมูลจากการประเมินยังพบว่า ผู้เรียนกลุ่มที่ 2 จำนวน 40 % สามารถแต่งคำประพันธ์ได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ แต่ยังเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้ไม่ดีนัก ข้อมูลยังพบเพิ่มเติมอีกว่า ผู้เรียนกลุ่มที่ 3 จำนวน 10 % ไม่สามารถแต่งคำประพันธ์ได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ และเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้ไม่เหมาะสมหรือใช้คำซ้ำๆกัน ซึ่งข้อมูลที่ผู้สอนได้มานี้จะเป็นส่วนสำคัญที่นำวิเคราะห์พิจารณาว่า จะพัฒนาผู้เรียนในกลุ่มที่ 2 และ 3 อย่างไร เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
สภาพความเป็นจริงของการศึกษาไทยในปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ายังพบว่าครูบางท่านอาจไม่มีเกณฑ์ในการประเมินผู้เรียนในการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านทักษะพิสัย และด้านเจตพิสัย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินชิ้นงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ การประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ พอตรวจผลงานนักเรียนครูก็ให้คะแนนตามความรู้สึก เช่น คะแนนเต็ม 10 ครูให้คะแนนเป็นตัวเลข บางคนได้ 10 คะแนนเต็ม บางคนได้ 7 คะแนน เขียนลงไปในผลงานนักเรียน แต่ไม่บอกว่าทำไมจึงได้คะแนนอย่างนั้น จะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากครูผู้สอนจะแจ้งให้นักเรียนทราบก่อนว่าต้องทำชิ้นงานอย่างไร จึงจะได้คะแนนเท่าไหร่ และเมื่อตรวจผลงานควรมีการอธิบายเสนอแนะให้นักเรียนทราบด้วยว่า การที่ได้ 10 เต็ม ผ่านอย่างไร ดีอย่างไรโดยยึดเกณฑ์การประเมิน ถ้าหากผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ บอกว่าไม่ผ่านเพราอะไร นักเรียนจะได้แก้ไขผลงานตรงตามที่ต้องการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือจัดการสอนเสริมเพิ่มเติมได้ตรงจุด Holly M. Searl ได้ เขียนเรื่อง Feedback : A Powerful Tool for Student Achievement in Language Arts ซึ่งกล่าวถึง เรื่องของการตรวจผลงานที่ให้เป็นค่าของคะแนนและมีการให้คำอธิบายแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมให้กับผู้เรียนด้วย ทำให้ผู้เรียนทราบว่าผลงานดีอย่างไร ควรแก้ไขเรื่องใดบ้าง เป็นการแจ้งผลย้อนกลับ (descriptive feedback) ว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและมีความสำคัญมากในการจัดการเรียนการสอน เป็นการให้โอกาสผู้เรียนเพื่อปรับเปลี่ยนและปรับปรุงการเรียนสู่มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งข้อความที่เขียนนั้น Holly M. Searl ยังแนะนำผู้สอน ว่าควรเขียนอธิบายในส่วนที่เน้นความสำเร็จ และจุดที่มีวิธีการปรับปรุง ซึ่งให้ความสำคัญไปที่ตัวผู้เรียนว่าต้องได้รับโอกาสได้ใช้ความคิดเห็นและความพยายามอีกครั้งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ครูต้องเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ ในการสอนเสริมเพิ่มเติม เช่นมีการให้ตัวอย่างประกอบ การใช้ภาพกราฟฟิกและแนะนำการเขียน การให้กิจกรรมนั่งร้าน(scaffolding) กับผู้เรียน หรืออาจถึงการสอนเนื้อหาใหม่อีกครั้งถ้าจำเป็น จะเป็นการดีหากครูทุกท่าน ให้ความสำคัญเรื่องของความแตกต่าง ของผู้เรียน เข้าใจ และช่วยเขาให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แม้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนเรียน วิธีประเมินในหลายๆอย่างก็ตาม
จากข้อมูลข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า การประเมินการเรียนรู้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการปรับปรุงการเรียนรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนด การวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ คือการวัดประเมินผลที่ตรงตามมาตรฐาน(Standards - Based Assessment)หรืออิงมาตรฐานการเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกำหนด
ผู้สอนซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ที่จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและประเมินผู้เรียนให้ได้ผลการประเมินที่ตรงกับข้อมูลที่เป็นจริง การนำผลการวัดประเมินผลมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งกระบวนการและองค์ประกอบของการประเมินที่มีคุณภาพนั้น ครูผู้สอนต้องเลือกรูปแบบวิธีการประเมินและเครื่องมือประเมินที่เหมาะสมกับบริบทของเนื้อหา และยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนอีกด้วย ดังนั้น จึงมีหลักในการวัดและประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประสิทธิผลของการจัดการศึกษา ดังนี้
หลักในการวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
1. สำคัญที่การวางแผน โดยให้การวัดประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการวางแผนในการจัดการเรียนการสอน การวางแผนของครู ควรให้โอกาสทั้งผู้เรียนและครูได้รับทราบข้อมูลและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นที่ตอบสนองกระบวนการคิดและการฝึกทักษะ รวมถึงการวางแผน กลยุทธ์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนเข้าใจเป้าหมายในการเรียนรู้ และเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน เพื่อเป็นการนำผลการประเมินการเรียนรู้ มาพิจารณาวางแผนหากลวิธีที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้ก้าวหน้าปละประสบความสำเร็จในการเรียนต่อไป
2. เน้นว่านักเรียนควรเรียนรู้อะไร อย่างไร การประเมินผลการเรียนรู้ควรเน้นที่วิธีการเรียนรู้ เมื่อมีการวางแผนการประเมินผล และมีการแปลข้อมูล จะทราบว่านักเรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร จะได้นำไปพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้มีความรู้และความสามารถตามมาตรฐานซึ่งถือเป็นความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน
3. เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการปฏิบัติการในชั้นเรียน สำหรับการเรียนรู้แล้ว การประเมินผลการเรียนควรจะเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติในชั้นเรียน ซึ่งโดยส่วนมากเป็นเรื่องที่ครูและนักเรียนสามารถอธิบายการประเมินผลได้ถึงภาระงานและคำถามได้อย่างเข้าใจ ทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะแสดงความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการเรียนรู้ เพื่อนำไปตีความและตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับครู และนักเรียนโดยตรง
4. เป็นทักษะวิชาชีพที่สำคัญสำหรับครู การประเมินผลการเรียนรู้ควรถือว่าเป็นทักษะวิชาชีพที่สำคัญสำหรับครู ครูต้องใช้ความรู้และทักษะวิชาชีพ ในการวางแผนการประเมิน ในการสังเกตการณ์เรียนรู้ ในการวิเคราะห์และตีความหลักฐานการเรียนรู้ ซึ่งครูควรมีสิ่งนี้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
5. เป็นการพัฒนาผู้เรียนและกระตุ้นการดูแลผู้เรียน การประเมินนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจ ครูควรจะตระหนักถึงผลกระทบด้านความคิดเห็นและผลการเรียน การประเมินจะส่งเสริมการกระตุ้นการดูแลผู้เรียนโดยเน้นที่ความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียนมากกว่าความล้มเหลว ซึ่งการประเมินสามารถทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในการเรียนและกระตือรือร้นใน การเรียนเป็นแรงจูงใจที่ดีในการพัฒนาการเรียนรู้ได้ ซึ่งแรงจูงใจยังสามารถสร้างสรรค์ผลย้อนกลับและสร้างทางเลือกที่ดีให้กับผู้เรียนได้
6. เสริมความเข้าใจจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้และเกณฑ์การผ่าน การประเมินผลการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงเป้าหมายในการเรียนรู้ และส่งเสริมความมุ่งมั่นในการเรียนกับเป้าหมายการเรียนรู้ และต้องเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องการให้บรรลุผลการเรียนรู้ ผู้เรียนมีความก้าวหน้าในการเรียน ซึ่งควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง และเข้าใจเกณฑ์การประเมินเพื่อผลของความสำเร็จของงาน
7. การประเมินผลช่วยผู้เรียนในการปรับปรุงการเรียนรู้ ผู้เรียนควรได้รับคำ แนะนำในการปรับปรุงการเรียนของตนเอง โดยใช้ข้อมูลการประเมินผลเพื่อนำมาวางแผนในการพัฒนาการเรียนรู้ความสามารถศักยภาพ และเพิ่มความสามารถในการแสวงหาและรับทักษะความรู้ ใหม่ๆ ซึ่ง ครูต้องจัดให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด

วิธีการวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ กับรูปแบบการประเมินที่หลากหลาย
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนด ตามที่กล่าวในตอนต้นว่า การวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ คือการวัดประเมินผลที่ตรงตามมาตรฐาน(Standards - Based Assessment) หรืออิงมาตรฐานการเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกำหนด ซึ่งการประเมินตามมาตรฐานนั้นเป็นการประเมินโดยใช้มาตรฐานการเรียนรู้เป็นตัวตั้ง เพื่อให้ครอบคลุมผู้เรียนที่แตกต่างกัน โดยที่การจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลนั้นต้องให้สอดคล้องกันไป ในปัจจุบันการประเมินผลตามมาตรฐานอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดี แต่ก็ต้องมีการสร้างมาตรฐานที่แตกต่างออกมาใช้อีกในอนาคตเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนมากขึ้น ส่วนการประเมินแบบอิงมาตรฐานเป็นการประเมินจากสิ่งที่หลักสูตรกำหนดทิศทางไว้ว่าต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถแสดงให้เห็นสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้อย่างแท้จริงจากผลงานที่นักเรียนปฏิบัติ สามารถปรับปรุงส่วนที่บกพร่องให้ดีขึ้นได้ การประเมินอิงมาตรฐานมีความสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และพัฒนาการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องเชื่อมโยงการประเมินเข้ากับหลักสูตร และองค์ประกอบอื่นของรูปแบบการเรียนรู้ด้วยแต่การประเมินแบบอิงมาตรฐานยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สำหรับการบ่งชี้ว่านักเรียนบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้หรือไม่และยังไม่สมบูรณ์พอที่จะตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนจากความสามารถที่นักเรียนได้รับจากการเรียนตามมาตรฐาน การประเมินอิงมาตรฐานต้องประเมินอย่างต่อเนื่องโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการช่วยผู้เรียนที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
Jennifer C. Greene and others (1989) ได้กล่าวถึงการประเมินทางการศึกษาว่าการประเมินมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นการหาทิศทางในการพัฒนาและปรับปรุง ประการที่สองเป็นการตัดสินประสิทธิภาพหลังจากที่ได้ดำเนินการสอนเสร็จสิ้นเพื่อให้ทราบว่าได้ผลเป็นอย่างไร โดยมีรูปแบบการประเมิน 2 รูปแบบ คือ Formative Assessment หรือการประเมินผลย่อยซึ่งเป็นการประเมินผลระหว่างเรียนตลอดเวลา และเป็นฐานของการประเมินที่นำไปสู่ Summative Assessment หรือการประเมินผลรวม ซึ่งเป็นขั้นการประเมินที่สรุปการเรียนการสอนแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการวัดประเมินผลมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงควรนำมาตรฐานการเรียนรู้มาเป็นตัวกำหนดและวางแผนในการประเมิน ทั้ง Formative Assessment และ Summative Assessment หรือที่เรียกว่า การวัดประเมินผลที่ตรงตามมาตรฐาน(Standards - Based Assessment) หรืออิงมาตรฐานการเรียนรู้ นั่นเอง
การวัดประเมินผลทำได้ในหลายขั้นตอนของการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ ก่อนเรียนระหว่างเรียน และหลังเรียน และมีรูปแบบการประเมินที่หลากหลาย ผู้สอนที่เอาใจใส่ผู้เรียนจะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้เรียนในบริบทต่างๆและมองเห็นพฤติกรรมการเรียน ความสำเร็จ และประสิทธิภาพของผู้เรียนมากที่สุด เป้าหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เรามุ่งหวังมากที่สุด คือเพื่อพัฒนาผู้เรียน และเป้าหมายของการประเมินผลคือการช่วยผู้เรียนให้ทราบถึงข้อดีข้อด้อยของตนในการเรียนรู้ และนำไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนรู้ Carol Boston (2002) กล่าวเกี่ยวกับการประเมินผลแบบ Formative Assessment ว่าครูสามารถเลือกใช้หลากหลายรูปแบบวิธีในการประเมินผลผู้เรียนในระหว่างเรียนเพื่อใช้ผลในการวัดนั้นไปปรับปรุงการเรียนการสอน ดังนั้น Formative Assessment จึงเป็นการประเมินที่ครูผู้สอนสามารถประเมินผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่องตามระยะที่กำหนด รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในข้อปฏิบัติที่ต้องแก้ไขให้ผู้เรียนได้รับทราบเพื่อนำไปปรับปรุงผลงานหรือผลการเรียนรู้จนสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Formative Assessment นี้ สามารถประเมินได้อย่างหลากหลายวิธี เมื่อประเมินแล้วนำผลการประเมินมาแปลข้อมูล ทั้งผู้สอน และผู้เรียนจะทราบว่าจุดประสงค์หรือตัวชี้วัดใดที่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ส่วนตัวชี้วัดใดยังไม่บรรลุเป้าหมาย จะได้นำมาพิจารณาวางแผนในการพัฒนาหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร หรือจะสอนเสริมเพิ่มเติมให้กับผู้เรียนอย่างไร เพื่อจะให้บรรลุตามตัวชี้วัดนั้นๆ
ทิวัตถ์ มณีโชติ (2549) ได้กล่าวถึงการวัดประเมินผลทางการศึกษาว่ามีหลักการเบื้องต้นที่สำคัญ คือ นิยามสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน การที่จะวัดให้มีคุณภาพต้องนิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ตรงและชัดเจน ใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ คุณภาพของเครื่องมือมีหลายประการ ที่สำคัญคือ มีความตรง (validity) คือวัดได้ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และมีความเที่ยง (reliability) คือวัดได้คงที่ คือวัดได้กี่ครั้งก็ให้ผลการวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลง และสุดท้าย คือกำหนดเงื่อนไขของการวัดให้ชัดเจน กำหนดให้แน่นอนว่าจะทำการวัดอะไร วัดอย่างไร กำหนดตัวเลขและสัญลักษณ์อย่างไร
โดยต้องไม่ลืมวิ่งที่สำคัญนั่นก็คือเครื่องมือและวิธีการประเมินต้องสอดคล้องกับกระบวนการเรียน การสอนของครูและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน

ขั้นตอนการวัดประเมินผลทางการศึกษา
Joy Frechtlingand others. (1997) กล่าวว่าไม่มีรูปแบบและวิธีการประเมินใดที่เหมาะสม และใช้ประเมินได้ทุกกรณี ที่มีการพัฒนาขยายการประเมินให้มีวิธีการประเมินที่ได้ผลการประเมินทั้ง ปริมาณ และ คุณภาพ เรียกว่าเทคนิคการประเมินผลด้วยวิธีผสมผสาน (Mixed Method Evaluations ) เป็นการการใช้เทคนิคของการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินนั้น มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น วิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ประโยชน์นำมาใช้ในการออกแบบวิธีการประเมิน การค้นหา การสรุป และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการพัฒนาการประเมินผลแบบ Formative Assessment นั้น มี 3สิ่ง ที่ครูผู้สอนควรคำนึงถึงคือ
1. การประเมินควรมีความยืดหยุ่น กลวิธีการประเมิน และเครื่องมือในการประเมินต้องมีความหลากหลาย ออกแบบให้สะดวกต่อการใช้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างเหมาะสมกับภาระงานที่กำหนด และคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน
2. การประเมินต้องมีประสิทธิภาพ มีวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อการเก็บข้อมูล ต้องสามารถรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนเพียงพอต่อการนำไปแปลผล
3. ต้องมีความถูกต้อง เมื่อประเมินแล้วต้องได้ข้อมูลที่มีความตรง ถูกต้อง เพื่อการนำไปวางแผนในการพัฒนาผู้เรียนได้ตรงกับความต้องการที่เป็นจริง
การเลือกกลวิธีการประเมิน และการเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบวัดทักษะ แฟ้มสะสมงาน สังเกตขณะปฏิบัติงาน บันทึกพฤติกรรม หรือเครื่องมืออื่นๆที่ผู้สอนจะคิดค้นหรือจัดหา ต้องมีความเหมาะสมสัมพันธ์กัน Jill Hearne (2001) กล่าวถึงการประเมินว่า การประเมินนั้นเป็นเครื่องมือของการจัดการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญของ การจับคู่กันระหว่างวิธีการประเมิน และเป้าหมายของการประเมินว่า ต้องสัมพันธ์กัน การเลือกวิธีการประเมินที่ถูกต้องจะทำให้บรรลุเป้าหมายของการประเมินได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการประเมินว่า เด็ก อ่านหนังสือได้หรือไม่ ครูบางท่าน ให้เด็กอ่านหนังสือ และประเมินด้วยการทำแบบทดสอบเป็นปรนัยแบบเลือกตอบ แทนที่จะประเมินโดยการให้ปฏิบัติด้วยการอ่านออกเสียงให้ฟัง ซึ่งไม่สัมพันธ์กันเลย หรือ การประเมินเรื่องของทักษะการพูด ก็ควรเลือกเครื่องมือประเมินที่สัมพันธ์ และวัดได้ตรง จริง เช่น ให้ออกมาพูดเล่าเรื่องหน้าชั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การประเมิน ต้องยึดหลัก ที่สำคัญ คือ มีวัตถุประสงค์ในการประเมินผลที่ชัดเจน เป็นเป้าหมายความสำเร็จ มีวิธีการแนะนำให้บรรลุป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม และแสดงตัวอย่างที่เหมาะสมกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้รวมทั้งป้องกันไม่ให้อคติและการบิดเบือนไปขัดกับการประเมินที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์
การจัดการศึกษาของไทยจะก้าวหน้า เด็กไทยจะมีคุณภาพการศึกษาที่ดี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการวางแผนพัฒนาการศึกษา ที่ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ส่วนครู ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา ว่า มุ่งในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ต้องสามารถนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ได้ และให้การวัดประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการวางแผนในการจัดการเรียนการสอน โดยคุณภาพ
ของการวัดประเมินผลต้องอิงมาตรฐานและควรคำนึงไว้เสมอว่า ประสิทธิภาพของการวัดประเมิน ผล ส่งต่อถึงประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ และนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง
ทิวัตถ์ มณีโชติ. 2549 . การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.
ศึกษาธิการ,กระทรวง. 2551. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2550. การเสริม ประสิทธิภาพการวัด และประเมินผลในชั้นเรียน. http://www.singarea.moe.go.th/
super-vi/ppt/super.ppt
Assessment Reform Group. 2002. Assessment for learning 10 principles http://arrts.gtcni.org.uk/gtcni/bitstream/2428/4623/1/Assessment%20for%20Learning%2 0-%2010%20principles.pdf
Boston, C. 2002. The concept of formative assessment. http://pareonline.net/ getvn.asp?v=8&n=9
Department of Education . 2002 Curriculum 2005 Assessment Guidelines for Inclusion.
http://www.up.ac.za/telematic/research/assessment/Documents/DoE%202002.pdf
Frechtling, J. and others. 1997. User-Friendly Handbook for Mixed Method Evaluations.
http://www.nsf.gov/pubs/1997/nsf97153/start.htm
Greene, J.C. and others. 1989. Toward a Conceptual Framework for Mixed-Method Evaluation Designs. http://www.jstor.org/pss/1163620
Hearne, J. 2001. Assessment as a Tool for Learning. http://www.newhorizons.org/ strategies/assess/hearne.htm
Herb, S. 2009 Standards Based Assessment for the CTE Classroom. http://www.slideshare.net/ccpc/standards-based-assessment-for-the-cte-classroom
McClafferty, T. and L .Rennie. 1996. Easy To Use Instruments For Formative Evaluation. http://archive.amol.org.au/evrsig/ pdf/mcclafferty96.pdf
Searl, H.M. Feedback : A Powerful Tool for Student Achievement in Language Arts
www.ed.gov/teachers/how/tools/initiative/summerworkshop/searl/searl.pdf
Unesco. 2004. Changing Teaching Practices: using curriculum differentiation to respond to students’ diversity. http://unesdoc.unesco.org/images/0013/001365/136583e.pdf

แนวโน้มการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทย

ภาษาไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และภาษายังเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แต่เรากลับพบว่า วิชาภาษาไทยที่มีความสำคัญยิ่งนี้ กลับมีคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนที่ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ตั้งไว้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สำรวจนักเรียนเพื่อวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาภาษาไทย จากทุกเขตพื้นที่การศึกษาพบว่า มีนักเรียนจำนวนถึง ร้อยละ 12.45 มีปัญหาด้านการอ่าน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความห่วงใยของสังคมไทยโดยทั่วไปที่พบว่า นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บางคนยังอ่านเขียนไม่คล่อง นักเรียนระดับมัธยมศึกษาบางคนมีปัญหาเรื่องความเข้าใจการอ่านและความอ่อนด้อยเรื่องของการเขียน หรือแม้กระทั่งนักเรียนบางคนบอกว่าเบื่อในวิชาภาษาไทย หรือแม้กระทั่งผู้จบระดับอุดมศึกษาบางคนยังมีความสามารถทางภาษาไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติงาน คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ตระหนักในคุณค่าภาษาไทย มีผู้สนใจเรียนรู้ภาษาไทยให้ลึกซึ้งและแตกฉานน้อยมาก และโดยเฉพาะในการสอบ ข้อสอบมักจะเน้นสิ่งที่ต้องอ่านแล้วคิดวิเคราะห์ให้ได้ว่าคำถามนั้นต้องการคำตอบอย่างไร แต่จากสถิติและการวิจัยของสำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) พบว่าเด็กทำข้อสอบไม่ค่อยได้เนื่องจากขาดการฝึกเรื่องของการคิดวิเคราะห์
เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่พัฒนามาจาก ที่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ให้เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะที่พึง ประสงค์ ข้อที่ 2 ที่เน้นเรื่อง ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
จากสาเหตุนี้กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย โดยมีเป้าประสงค์ที่จะเร่งรัดส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถภาษาไทยในระดับที่สูงขึ้น มีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นเพื่อการแสวงหาความรู้และการประกอบอาชีพ รวมทั้งเห็นความสำคัญและร่วมอนุรักษ์ภาษาขึ้น

เมื่อประมวลปัญหา และสาเหตุทั้งหมดดังกล่าว ในปัจจุบัน ได้เกิดการตื่นตัวในแวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง มีกลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษาจากหลากหลายหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เรื่องของยุทธศาสตร์ และกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย และปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอน ในหัวข้อการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย โดยให้ความสำคัญ เรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนว่า การสอนให้เด็กท่องจำหรือคิดวิเคราะห์ ทิศทางที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบัน ให้ความสำคัญของการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เด็กไทยเรียนแบบคิดวิเคราะห์ หากจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เชิงคิดวิเคราะห์มากขึ้น รวมทั้ง หลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องเน้นหนักเรื่องการทำให้เด็กเรียนรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพก่อน เพราะทักษะทางภาษาจะนำพาเด็กไปสู่ระบบการคิดวิเคราะห์ได้ดี ดังนั้นหากแก้ปัญหาส่วนนี้ไม่ได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ก็ไม่เกิด ซึ่งทุกวันนี้สถานศึกษาให้ความสนใจกับทักษะทางภาษาน้อยมาก และข้อสอบวัดประเมินผลเด็กก็จะเน้นแต่ข้อสอบปรนัย ส่งผลให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ต่ำเหล่านักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่าต้องทำพร้อมกันทั้งสองส่วน คือทั้งท่องจำ และการคิดวิเคราะห์ไปด้วยกัน แต่ต้องเพิ่มเนื้อหาในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ให้เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่การสอนคิดวิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
ดังนั้นในมุมมองของข้าพเจ้า แนวโน้มในการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จึงควรที่จะพัฒนาทั้ง ครู และนักเรียน โดยออกมาในรูปของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
แนวโน้มในการพัฒนาครู
บริบทของการพัฒนาครูผู้สอนในวิชาภาษาไทย มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการเรียนการสอนที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียน ดังนี้
1. ต้องพัฒนาครูผู้สอนให้เห็นความสำคัญ และเอาจริงเอาจังในการจัดการเรียนการสอน เพื่อแก้ไขปัญหาของนักเรียนที่เกิดขึ้น โดยการส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย อย่างมีคุณภาพรอบด้าน ทั้งด้านการจัดเตรียมเนื้อหาในการเรียนรู้ ที่ทันยุคทันสมัย การจัดหาจัดสร้างสื่อวัสดุอุปกรณ์เพื่อช่วยสร้างความน่าสนใจในการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศและแหล่งเรียนรู้ ฯลฯ
2. ต้องพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความนำสมัย เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการสื่อสารกับผู้เรียน ผ่านระบบการเรียนแบบออนไลน์ การใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลที่มีมากมายมหาศาลบนโลกแห่ง www. ซึ่งเป็นโลกแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดน
3. ต้องพัฒนาทักษะของครูเรื่องของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งครูต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ก่อน จึงจะสามารถสอนผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วย
4. ต้องพัฒนาครูในเรื่องของการวัดประเมินผล การออกข้อสอบที่มีระดับของความรู้ ที่พัฒนาการหลายขั้น ตั้งแต่ ความรู้ความจำ เข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และถึงขั้นประเมินค่า โดยมุ่งเน้นด้านการคิดวิเคราะห์เป็นอย่างต่ำ เพราะบางครั้งครูก็ออกข้อสอบที่เน้นแต่ความจำเพียงอย่างเดียว หรือนำข้อสอบที่คิดวิเคราะห์ให้ครูทำครูบางท่านก็ทำไม่ได้เนื่องจากขาดทักษะ
5. ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้การทำวิจัยในชั้นเรียนเกี่ยวกับภาษาไทย เพื่อแก้ปัญหาการเรียนวิชาภาษาไทยให้กับนักเรียนได้ตรงกับปัญหาของแต่ละบุคคล เช่นนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก จะมีกิจกรรม หรือวิธีการใดเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง เป็นต้น
แนวโน้มในการพัฒนานักเรียน
นักเรียนที่จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป แน่นอนต้องได้รับการพัฒนาในสิ่งที่เขาจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคต นำภาษาไปเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถต่างๆดังนี้
1. ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถของนักเรียนในเรื่องของทักษะการอ่าน และการเขียน เป็นสำคัญยิ่ง เพราะ เมื่อนักเรียนอ่านได้ เขียนได้ สื่อสารได้ถูกต้อง จะนำไปสู่ประโยชน์ของเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ และเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต
2. ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถของนักเรียนด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับการท่องจำ เพราะภาษาไทยต้องอ่านต้องจำ และต้องวิเคราะห์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน ที่ต้องมีการคิดอย่างลึกซึ้ง เมื่อนักเรียนมีความรู้ความชำนาญด้านการคิดวิเคราะห์ นักเรียนจะสามารถคิดพิจารณา สิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ ไปสู่การเรียนวิชาอื่นๆได้อย่างดียิ่ง ซึ่งกิจกรรมที่ครูสามารถ สอนเพื่อส่งเสริมนักเรียนด้านการคิดวิเคราะห์สามารถทำได้อย่างหลากหลาย เช่น การทำโครงงานทางภาษา การสืบค้นและประมวลความรู้ การฝึกการถามการตอบแบบวิเคราะห์ เป็นต้น
3. ต้องมุ่งเน้นที่จะพัฒนานักเรียน ให้เห็นคุณค่าของภาษาไทย ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อนุรักษ์ภาษาไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทย เพราะหากนักเรียนใช้แต่คำภาษาต่างประเทศที่ล้ำสมัยไม่ว่าจะเป็นภาษอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ที่เข้ามาอย่างกับน้ำไหลจากการสื่อสารทางเทคโนโลยีสารเทศ หรือแม้กระทั่งค่านิยมของการชื่นชมศิลปินต่างประเทศ ฯลฯ โดยหลงลืมความเป็นไทย เราจะไม่มีภาษาไทยใช้ในอนาคต นักเรียนก็จะเขียนและใช้ไม่ถูกต้อง กิจกรรมที่ทำ อาทิเช่น รณรงค์การเขียนตัวอักษรไทยให้ถูกต้องตามรูปแบบ การใช้ภาษาไทยให้ถูก กาลเทศะ บุคคล ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน
เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญ และระดมช่วยกันคิดแนวทางในการแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารระดับสูง หน่วยงานทางการศึกษา นักการศึกษา แต่แนวความคิดนี้จะไม่เกิดผลเลย หากครูผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำแนวความคิดเหล่านี้ออกมาสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เกิดความรู้สึกร่วม ในการที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนากระบวนการเรียนการสอน พัฒนาทักษะกระบวนการทางภาษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง เด็กไทย......ฝากไว้กับท่านทุกคน..... ครูภาษาไทยที่รัก


อ้างอิงจาก
- http://www.ryt9.com/s/cabt/408212
- http://www.pantown.com/group.php?display=content&id=36749&name=content31&area=3
- http://gotoknow.org/blog/auon10/152428
- กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
- หนังสือพิมพ์ แนวหน้า การแก้ปัญหา ทักษะการคิด วิเคราะห์ เด็กไทย 11 ก.ย. 2552 .

30 August 2009

บริบทของหลักสูตร ต่อการจัดการศึกษา



ในกระบวนการการจัดการศึกษานั้น หลักสูตรเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่ง และในขณะเดียวกัน นิยามความหมายของหลักสูตรก็แตกต่างกันออกไปในหลากหลายมุมมอง ทั้งความหมายแคบ และความหมายที่กว้างให้เหมาะสมกับสภาพการใช้หลักสูตร ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ขึ้นอยู่กับการคำนึงถึง เป้าหมายในการใช้หลักสูตร ประสบการณ์ของแต่ละส่วนแต่ละงานและแต่ละคนที่เกี่ยวข้องที่มีต่อหลักสูตร และยังรวมไปถึงสถานการณ์ของสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะลักษณะของตัวหลักสูตรการศึกษา ที่ระบุสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะรู้ ในหลากหลายสถานการณ์ หลากหลายรูปแบบ และหลากหลายคุณประโยชน์ และสิ่งที่ครูจะนำไปใช้เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนให้บรรลุ เป้าหมายที่วางไว้ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีหลายคนพยามยามนิยามความหมายของหลักสูตรไว้อย่างมากมายเพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด

ฉะนั้นจึงไม่ควรกำหนดนิยามของหลักสูตรให้มีความหมายเดียวเพราะจะทำให้ไม่สามารถครอบคลุมการจัดเรียนการสอนที่หลากหลาย ได้และที่สำคัญจะไม่สามารถทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอีกด้วยและการยึดหลักสูตรที่หลากหลายจะทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรต่อไปให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนก็ต้องดูบริบทของโรงเรียน พื้นฐานของผู้เรียนและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับโรงเรียนของตนเอง และที่สำคัญการที่มีหลักสูตรที่หลากหลายทำให้เป็นทางเลือกให้แก่ผู้เรียนในการตัดสินใจเลือกเรียน และเป็นทางเลือกให้กับโรงเรียนในการนำหลักสูตรไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมต่อไป
สาเหตุที่ต้องมีหลักสูตรระดับต่าง ๆ ก็เพราะว่าผู้กำหนดหลักสูตร คำนึงถึงเป้าหมายในการใช้หลักสูตร เช่นหลักสูตรระดับประเทศกำหนดเป้าหมายในการใช้หลักสูตรอย่างไรบ้าง เป้าหมายการใช้หลักสูตรในระดับสถานศึกษา เป้าหมายการใช้หลักสูตรในระดับห้องเรียนของครูผู้สอน หรือเป้าหมายการใช้หลักสูตรที่เป็นมวลประสบการณ์ในโรงเรียน ซึ่งเป้าหมายจะลดหลั่นกันลงหมายแต่จะเพิ่มในรายละเอียดปลีกย่อย และยิ่งไปกว่านั้นคือผู้เรียนมีประสบการณ์ ลักษณะนิสัย และความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน หลักสูตรจึงต้องกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการจัดประเมิน ที่เหมาะสมกับผู้เรียนทั้งในเรื่องของ เพศ วัย รวมถึงความต้องการของผู้เรียน และเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงกับความถนัดและสนใจของผู้เรียน เพื่อส่งผลไปถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตร หลักสูตรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน และถ้านักพัฒนาหลักสูตรยึดความหมายหลักสูตรต่าง ๆ กันก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะจะส่งผลให้การพัฒนาหลักสูตร นั้นอยู่ในวงกว้าง และทำให้หลักสูตรมีรูปแบบและลักษณะที่หลากหลาย เพื่อประโยชน์ในการใช้ และส่งผลตรงกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้กับผู้เรียน โรงเรียนได้ใช้หลักสูตรที่โรงเรียนต้องการ สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องตรงตามเป้าหมายที่หลักสูตรนั้นๆกำหนด และตรงกับสภาพความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำให้โรงเรียนมีหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะกับสภาพของสังคมนั้นๆ และทันสมัย แต่ในความหลากหลายของหลักสูตรนั้นก็ต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือ มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นเป้าหมายสูงสุด เน้นการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ตามความหมายของหลักสูตรที่นักการศึกษาได้ให้นิยาม ตามความรู้และประสบการณ์ แนวคิดทฤษฎีของของตนไว้มากมาย แต่ก็อยู่ภายใต้เป้าหมายเดียวกันก็คือพัฒนาผู้เรียน แต่ในที่นี้ ก็มีข้อเสียบ้างเช่นกัน คือความไม่มีเอกภาพของหลักสูตร ในภาพรวมของประเทศ อาจเกิดปัญหาอุปสรรคในการหาแนวการประเมินมาตรฐานหลักสูตร ที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการจัดการเรียนการสอน ในความหลากหลายของหลักสูตรนั้นก็ต้องมีความเป็นเอกภาพและมีความเป็นมาตรฐาน ซึ่งต้องทำให้หลักสูตรสามารถเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์กัน และที่สำคัญหลักสูตรต้องเป็นสิ่งที่ยึดหยุ่นได้และสามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาได้ตามสถานการณ์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
การที่เราต้องกำหนดให้มีหลักสูตรในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่หลักสูตรระดับประเทศ หลักสูตรระดับสถานศึกษา หลักสูตรระดับห้องเรียนของครูผู้สอน และหลักสูตรที่เป็นมวลประสบการณ์ในโรงเรียน ก็เพราะว่าผู้กำหนดหลักสูตร ได้คำนึงถึงเป้าหมายในการใช้หลักสูตร ว่าในแต่ระดับของการใช้จะมีบทบาทหน้าที่ในการนำหลักสูตรมาใช้แตกต่างกัน และโดยเฉพาะผู้เรียนที่มีประสบการณ์ ลักษณะนิสัย และความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันตามช่วงวัย หลักสูตรจึงต้องกำหนดเนื้อหาการเรียน รู้ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการจัดประเมิน ที่เหมาะสมกับผู้เรียน รวมถึงความต้องการของผู้เรียนและเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงกับความถนัดและสนใจของผู้เรียนแล้วการเรียนการสอนนั้นก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี การที่ต้องมีหลักสูตรระดับต่างๆ จะส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรในด้านของความเหมาะสมตามสภาพของการใช้งานกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่กำหนดไว้ในระดับกว้างหรือแคบในแต่ละระดับ เช่น หลักสูตรระดับชาติ หลักสูตรระดับสถานศึกษา หลักสูตรระดับห้องเรียนของครูผู้สอน และหลักสูตรที่เป็นมวลประสบการณ์ในโรงเรียน ทั้งนี้หากครูผู้สอนสามารถจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพเพศ วัย ความถนัดและสนใจของผู้เรียน แล้วการเรียนการสอนนั้นก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี การมีหลักสูตรระดับต่างๆ ยังส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ที่สอดคล้องกับสภาพความต้องการของผู้กำหนดหลักสูตร ตั้งแต่ระดับชาติลงมา จนถึงระดับครูผู้สอน และประโยชน์จะเกิดกับผู้เรียนโดยตรง การพัฒนาหลักสูตรนับว่าเป็นกระบวนการสำคัญในการศึกษา หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ และนำมาจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความคิด และสติปัญญา สามารถใช้หลักสูตรในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคน ส่งผลให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม และรวมไปถึงการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง

01 June 2009

การนำเสนอผลงานรายบุคคล WEBQUEST PROJECT

1. บทเรียน Webquest เรื่อง อักษรไทยลายมือนั้นคือยศ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นี้ได้สร้างขึ้นตามมาตรฐานการเรียนรู้ วิชาภาษาไทย และกำหนดให้มีการเรียนรู้ที่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ใน 5 สาระการเรียนรู้ คือ การฟังการดูการพูด การอ่าน การเขียน หลักการใช้ภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม ในหนึ่งหน่วยการเรียนรู้ ได้กำหนดหน่วยที่ 1 ว่า อ่านเขียนแสนสนุก โดยมีสาระหลัก คือการอ่าน การเขียน และแบ่งหน่วยย่อย 4 หน่วย เลือก นำหน่วยที่ 1 อักษรไทยลายมือนั้นคือยศ มาทำเป็นบทเรียนเว็บเควส ซึ่ง จุดประสงค์การเรียนรู้นั้น คือ ให้นักเรียน บอกรูปและเสียงของ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ และตัวเลขไทย พร้อมคัดลายได้ถูกต้องตามรูปแบบและท่องจำพยัญชนะไทยได้ นำจุดประสงค์การเรียนรู้ มาพิจารณาเพื่อเลือกรูปแบบ Task และกำหนดเป็นจุดประสงค์เว็บเควส โดยเน้นการใช้ทักษะการคิดแบบสืบสวนสอบสวน และนำมาตอบคำถาม หรือทำชิ้นงาน โดยได้กำหนดแหล่งเรียนรู้ ให้ค้นคว้าที่ตรงตามเนื้อหา และกำหนดชิ้นงานที่ตอบสนองจุดประสงค์ คือ
1. ออกแบบผลงานการค้นคว้าสืบหามาออกแบบชิ้นงานเพื่อประกอบการสรุปนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้รับของกลุ่ม และจดบันทึกความรู้ที่ได้รับลงในอนุทินความรู้ เป็นรายบุคคล
2. ผลงานการคัดลายมือ ตามรูปแบบ
3. การออกแบบท่าทางทำนองการท่องจำ พยัญชนะไทย ก – ฮ
2. การทำ WebQuest เริ่มแรก เมื่อได้จุดประสงค์ WebQuest แล้ว พร้อมทั้งได้ศึกษารูปแบบการเรียนรู้แบบ WebQuest จากการทำงานออนไลน์ เป็นการค้นคว้าการทำงานกลุ่มแล้ว ได้เริ่มทำ Project โดยออกแบบบทเรียนโดย เลือก Task เป็น Mystery Task ที่เป็นรูปแบบ การสืบค้นความลับ แล้วนำมาแก้ไขปริศนาต่างๆ เพื่อเร้าความสนใจในการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น ต้องการค้นหาความจริง กำหนด Introduction หรือบทนำเพื่อท้าทาย และเชิญชวนในการเรียนรู้เรื่องที่ตรงกับกับจุดประสงค์ กำหนด Task หรือ ภาระงานว่าให้ทำผู้เรียนทำอะไรบ้างโดยสัมพันธ์กับจุดประสงค์เว็บเควส กำหนด Process หรือขั้นตอนกระบวนการเป็น 3 ภารกิจ ในการสืบหาความลับเพื่อนำความรู้ไปใช้ ได้ค้นหาแหล่งเรียนรู้ที่ตรงกับเนื้อหาและจัดทำเป็น Resources ที่จัดเป็นชุดๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนสะดวกในการสืบค้น พร้อมสร้างข้อตกลงในการวัดประเมินผล ใน Evaluation ที่เป็น Rubrics แบบ Analytical scales ซึ่งเป็นการให้คะแนนโดยแยกประเด็นรายการที่ต้องการวัด เขียนคำบรรยายคุณภาพในแต่ละระดับ เพื่อผู้เรียนจะทราบว่าตนเองต้องทำอย่างไรจึงจะได้คะแนนที่ดี และ สรุปผล ใน Conclusion ว่าเมื่อเรียนรู้จบแล้ว นักเรียนจะได้อะไรบ้างจากการเรียนรูปแบบเว็บเควสนี้ โดยพิมพ์ลงในไฟล์word เพื่อให้อาจารย์ตรวจสอบและปรับแก้ไขก่อน แล้วจึงมาทำลงในTemplate โดยได้แบ่งส่วนเป็นจอ เมนูต่างๆ โดยใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสร้างและปรับแก้ไขอย่างหลากหลายที่ได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริงในห้องเรียน อาทิเช่น Dreamweaver 8 ในการสร้างและปรับแก้ไขเว็บเพจ มีการค้นหาภาพที่เป็นภาพเคลื่อนไหว นำมาตกแต่งโดยเลือกภาพที่มีสัมพันธ์กันตลอดเรื่องเพื่อช่วยทำให้เว็บเพจน่าสนใจโดยเฉพาะ ไฟล์ index เมื่อจะแก้ไขให้แก้ไขที่ Notepad ใช้โปรแกรม hotpotato ช่วยสร้างกิจกรรมแบบฝึก ทำแบบทดสอบ และการเติมคำ เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้ด้วยตนเอง เมื่อทำบทเรียน WebQuest เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทดสอบ link ต่างๆ ว่ามีการเชื่อมโยงที่ถูกต้องหรือไม่ และปรับแก้ไขจนสมบูรณ์ เพื่อเตรียมนำเสนอและเผยแพร่ ผ่านเครือข่ายของ pirun server
ต้องขอบคุณ เพื่อนๆที่ช่วยเหลือกันในการทำงาน ขอบคุณ รศ. ดร.มธุรส จงชัยกิจ ที่กรุณาสอนให้พวกเราได้เรียนรู้และสร้างบทเรียน WebQuest ที่มีเนื้อหาสาระการเรียนรู้ตรงตามมาตรฐานและตัวชี้วัดถูกต้องตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ขอบคุณค่ะ

สรุปองค์ความรู้ รายวิชา 162531-2009

จากการเรียนรู้รายวิชา 162531 เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาหลักสูตรและการสอน องค์ความรู้ที่ได้รับ ดังนี้ คือ
1. ได้เรียนรู้รูปแบบการเรียน ออนไลน์ ความหมายและรูปแบบการเรียนการสอนผ่านเว็บ และ WebQuest การเรียนรู้ด้วยสื่อและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ผสมผสานกันระหว่างการเรียนในห้องเรียน กับการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ จากเว็บไซด์ที่ผู้สอนคัดเลือกแล้ว ว่าตรงกับเนื้อและจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งได้มาจากการค้นคว้าโดยการทำงานกลุ่ม อภิปรายร่วมกันและสรุปออกมา
2. ได้เรียนรู้ การสร้างBlog การสนทนาและโพสต์บทความเผยแพร่ลงใน Blog ของตนเอง และแสดความคิดเห็นใน Blog ของเพื่อน การส่งงาน และติดต่อ ทางอีเมล์ รูปแบบต่างๆของ WebQuest รูปแบบของ Taskology ขั้นตอนการทำ WebQuest การวัดประเมินผล และเกณฑ์การประเมินผลแบบ Rubrics การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยสร้าง webpage และwebsite เช่น โปรแกรม PhotoImpact โปรแกรม Dreamweaver 8 โปรแกรม hotpotato และการแก้ไขใน Notepad และนำมาพัฒนางาน Website และบทเรียน WebQuest ของตนเอง ซึ่งได้มาโดยการค้นคว้าจากเว็บไซด์ วิเคราะห์ อภิปราย และสรุปออกมาโดยการทำงานกลุ่ม และการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติจริงในชั้นเรียน
3. ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆจากการใช้งาน ระบบบริหารจัดการ MAXLEARN ดังนี้
- การ Login เข้าใช้งานที่ https://course.ku.ac.th/ พิมพ์รหัสประจำตัวนิสิต และใส่passrord หลังจากนั้น กด submit เพื่อเข้าสู่ รายละเอียดในรายวิชาที่ตนเองเรียน
- การส่งงานที่เป็น ไฟล์ ให้พิมพ์งานลงใน word ให้เรียบร้อย ก่อน ต้องตั้งชื่อเป็น ภาษาอังกฤษ เลือก browse ไฟล์งานที่เตรียมไว้ ควรพิมพ์ข้อความทักทายผู้สอน และบอกรายละเอียดในการส่ง และงานด้วยและควรมีขนาดไม่โตเกินกว่าที่กำหนด
- ใช้ Talkstd ในการคุยโต้ตอบกับเพื่อนเรื่องงาน และ ใช้ TalkAjarn ในการสอบถามอาจารย์ ในเรื่องการเรียน คนเขียนสามารถเข้าไปลบหรือแก้ไขของตนเองได้
- สิ่งที่ต้องระวังและแก้ไขก่อนเสมอเมื่อใช้งาน Web Board คือ กรอบสี่เหลี่ยมสีขาว ด้านบน ขวามือสุด คลิก เข้าไป และแก้ไขที่ edit your preferences เปลี่ยน 7 วัน เป็น 99 วัน เพื่อให้แสดงได้ นาน 99 วัน หากไม่แก้ไข จะแสดงเพียง 7 วัน จะขึ้นว่า no data จะทำให้องไม่เห็น
- การเปิดดูในกรอบด้านขวามือ ให้คลิกที่ตัวข้อความเพื่อเข้าไปค้นคว้า และโพสต์สรุปผล การเรียนรู้ และอภิปรายร่วมกับสมาชิก และย้อนกลับมาโพสต์สรุปองค์ความรู้ทั้งหมดของกลุ่มที่หน้าแรก
- ข้อเสนอแนะอื่นๆ ภาษาสำนวนที่ใช้ในการสื่อความมีความสำคัญมากต้องเขียนให้สื่อความตรงตามที่ต้องการ การตรวจสอบผลงานและส่งกลับมาเพื่อให้นิสิตแก้ไข เป็นระยะๆ จะทำให้ งานเกิดการแก้ไขที่ถูกต้อง ตามขั้นตอนและมีความสมบูรณ์

10 May 2009

การศึกษาตัวอย่าง WebQuest

สรุปรายงานการค้นคว้า ตัวอย่าง WebQuest พบข้อสังเกต ดังนี้
1. กิจกรรมตาม Taskology ทั้ง 6 เรื่อง มี Task หลากหลาย เช่น Creative Product Task Persuasion Task Journalistic Tasks Consensus Building Tasks Mystery Task และ Retelling Tasks 2. WebQuest นั้นสามารถสร้างเพื่อใช้สอนได้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งWebQuest บางเรื่องนั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายกลุ่มสาระ ตามความเหมาะสม และมีWebQuest บางเรื่อง เช่นเรื่อง Apple Trees ที่เป็นการสอนแบบบูรณาการ มีหลักสูตรและมาตรฐานที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายหลายกลุ่มสาระเข้าด้วยกันและประเมินตามมาตรฐานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้แยกกันออกไป
3. สื่อที่ครูต้องทำเพิ่ม นอกเหนือจากแหล่งข้อมูลเว็บ มีหลากหลายเช่น เอกสารประกอบการสอน แบบจดบันทึก เกมทบทวนการเรียนรู้ ใบกิจกรรม ใบงาน แบบทดสอบ
4. ชิ้นงาน ที่ผู้เรียนต้องผลิตหรือทำออกมา จะผ่านกระบวนการคิดและการเรียนรู้ในรูปแบบ Collaborative จะเน้นการทำงานกลุ่ม แต่มีบ้างที่เป็นงานส่วนบุคคล อาจเป็นเอกสาร การนำเสนอ การโต้วาที จดหมาย เรียงความ การจดบันทึกอนุทิน ฯลฯ 5. เมนูหลักที่ใช้ คล้ายคลึงกัน เมนูหลักที่ใช้ส่วนใหญ่ สำหรับนักเรียน ประกอบด้วย Introduction Task Process Evaluation Conclusion Credits และสำหรับครูประกอบ Introduction Learners Standards Process Resources Evaluation Conclusion Credits ซึ่งรูปแบบการวางอาจอยู่ด้านบน หรือด้านซ้ายมือ ส่วน ที่น่าสนใจ คือ Evaluation พบว่ามี 2 ลักษณะ คือ นักเรียนประเมินตนเอง และครูประเมินนักเรียน และรูปแบบการประเมินมีทั้ง แบบ Rubric และแบบ Rating Scale
ยกตัวอย่างรายละเอียดเรื่อง Meet the Immigrants:
1. กิจกรรม Taskology เป็น Journalistic Tasks เป็นงานที่ให้นักเรียนสวมบทบาทเป็นผู้อพยพ ในอเมริกา ค้นหาข้อมูลของผู้อพยพยุคแรกๆในอเมริกา ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทาง ที่บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นข้อเท็จจริง และนำเสนองาน 3 วิธี คือ จดบันทึกข้อมูลที่ได้ค้นคว้าเป็นรูปแบบการจดบันทึกการเดินทาง สวมบทบาทผู้อพยพ กลุ่มละ 4 คน เลียนแบบการแต่งกายของผู้อพยพที่ตนเองสวมบาท และรวมกันอภิปราย ความเป็นอยู่ ความคิด ความรู้สึกของผู้อพยพเมื่อมาในดินแดนใหม่ ผ่านการบันทึกรายการโทรทัศน์จำลอง เพื่อรายงานและเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้อื่นทราบ 2. กลุ่มสาระฯ ที่เหมาะนำไปประยุกต์ใช้ที่สุด คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม แต่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ก็นำไปประยุกต์ใช้ได้ ในเรื่องการการอภิปราย
3. สื่อที่ครูต้องทำเพิ่ม คือ 1 แบบจดบันทึกวารสารการเดินทาง 2 สร้างเกมเพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจ 4. ชิ้นงาน หรือ ผลงานหลัก ที่ผู้เรียนต้องผลิต หรือทำออกมา คือ 1. จดบันทึกวารสารการเดินทางรายบุคคล 2. เลียนแบบการแต่งกายของผู้อพยพที่ตนเองสวมบาท 3. ร่วมกันอภิปรายผ่านการบันทึกรายการโทรทัศน์จำลอง 5. เมนูหลักที่ใช้ วางไว้ด้านข้างซ้ายมือของเพจ มี 2 ส่วน คือ ส่วนของครู และส่วนของนักเรียน จะบอกว่าครูควรทำอย่างไร นักเรียนควรทำอย่างไร แต่ของครูจะมี Standard และ Resources เพิ่มขึ้น ทำเป็นเมนู link คนละหน้า
ยกตัวอย่างรายละเอียดเรื่อง เรื่อง Rain Forest Project
1. กิจกรรม Taskology เป็น Consensus Building Tasks ที่ จะแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม คือฝ่ายที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากป่าฝน กับ ฝ่ายที่ต่อต้าน จำลองศาลเปิดเวทีโต้แย้งกันด้วยข้อมูลที่ค้นคว้ามา เพื่อเป้าหมายที่จะได้ข้อคิดข้อตัดสินที่ดีที่สุดในการเป็นประเทศเล็กๆในป่าฝนที่คนทั่วโลกจับตาดูอยู่
2. กลุ่มสาระฯ ที่เหมาะนำไปประยุกต์ใช้ คือ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์
3. สื่อที่ครูต้องทำเพิ่ม นอกเหนือจากแหล่งข้อมูลเว็บ ไม่มี มีเพียงจัดสภาพบรรยากาศห้องเรียนเป็นศาล
4. ชิ้นงาน หรือ ผลงานหลัก ที่ผู้เรียนต้องผลิต หรือ ทำออกมา คือ 1 จดบันทึกการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูล 2. เปิดการโต้วาที 2 ฝ่ายแถลงการณ์ข้อดีข้อเสียของการดำเนินกิจกรรมในป่าฝน 3. เขียนแสดงความคิดเห็น 2 หน้ากระดาษ 3เรื่องใหม่ที่เรียนรู้จากการค้นคว้าในเรื่องป่าฝน วิธีการปกป้องป่าฝน และวิธีการที่จะบอกประเทศอื่นๆให้รู้วิธีการจัดการทรัพยากรของพวกเขา
5. เมนูหลักที่ใช้ เป็น แบบเรียงอยู่ด้านบน เนื้อหาเป็นหน้าเดียวยาวลงมาด้านล่าง มีของครูและนักเรียน เมนูของนักเรียน Introduction กล่าถึงสภาพของป่าฝนจากการวิจัยในปัจจุบัน Task คือ ให้คิดวิธีการที่จะใช้ทรัพยากรจากป่าฝนให้มีค่ามากที่สุด เพื่อต่อสู้กับฝ่ายที่คัดค้าน Resources มีคำแนะนำบอกแหล่งค้นคว้า Process แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เพื่อต่อโต้แย้งกันในศาล หาวิธีการที่ดีที่สุดแล้วแถลงการณ์ผลการสรุกความคิดเห็น Evaluation ประเมิน 4 ด้าน 1 การจดบันทึกการค้นคว้า 2 การแถลงความคิดเห็นต่อสู้กันในศาล 3 การนำเสนอผลงาน 4 การมีส่วนร่วมในการทำงาน 5 เขียน บอก 2 หน้ากระดาษ เพื่อบอกความคิดเห็น วิธีการปกป้องป่าฝน และบอกวิธีการจัดการทรัพยากรของตนเองให้ประเทศอื่นรับทราบConclusion ในนักเรียนสรุป ส่วนเมนูของครู Introduction บอกข้อมูลที่มาของโครงการและความสำคัญในการเรียนรู้วิธีการของศาล Content Areas บอกว่าควรใช้สอนนักเรียนระดับใด Standards บอกมาตรฐานการเรียนรู้ Implementation ภาพรวมของการสอน ใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ สร้างทีมคณะลูกขุน Resources ทรัพยากรที่ต้องการคือ หนังสือเกี่ยวกับป่าฝน จำนวน 8-10 เล่ม คอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต การจัดห้องเรียนเป็นศาล มีคณะลูกขุน Entry Skills ทักษะความรู้ที่ต้องการคือทันต่อสภาพการถูกทำลายของป่าฝน และการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ Evaluation ประเมินเฉพาะชั้นเรียนที่สอน ถ้าประสบความสำเร็จอาจขยายไปทั้งโรงเรียน Conclusion ชี่ให้เห็นความสำคัญของป่าฝน

อ้างอิงจาก
เรื่องที่ 1 Radio Days: A WebQuest จาก http://www.thematzats.com/radio/index.html เรื่องที่ 2 Rock The Vote จาก http://projects.edtech.sandi.net/lewis/rock/ เรื่องที่ 3 Meet the Immigrants: จาก
http://www.lubbockisd.org/webquests/MeetImmigrants/index.htm เรื่องที่ 4 Rain Forest Project จาก http://projects.edtech.sandi.net/ofarrell/rainforest/
เรื่องที่ 5 What A Life จาก
http://www.uni.edu/schneidj/webquests/spring04/whatalife/index.html เรื่องที่ 6 Apple Trees จาก http://www.gis.net/~tweets/webquest/

22 April 2009

เกณฑ์การประเมินแบบ Rubrics

การประเมินผู้เรียน นั้น มีรูปแบบการประเมินหลากหลาย ประเมินได้หลายช่วงของการเรียนการสอน ตั้งแต่ระหว่างเรียน เสร็จสิ้นการทำงาน และประเมินด้วย Portfolios
Rubrics เป็นรูปแบบของเครื่องมือในการประเมิน ที่กำลังมีบทบาทสำคัญ และได้รับความนิยมมาก
จากการการค้นคว้า พบว่า การประเมิน โดย ใช้ Rubric นั้น มี 2 วิธี คือ
1. แบบHolistic scales เป็นการให้คะแนนโดยนำรายการประเมินที่ต้องการวัดมาอยู่รวมกัน ในแต่ละระดับคุณภาพ เป็นการดูในภาพรวม ข้อดี ก็คือให้คะแนนได้อย่างรวดเร็ว
2. แบบAnalytical scales เป็นการให้คะแนนโดยแยกประเด็นรายการที่ต้องการวัด เขียนคำบรรยายคุณภาพในแต่ละระดับ ต้องดูและวัดนักเรียนที่ละพฤติกรรม ค่อนข้างช้า ข้อดี ก็คือ จะทราบพฤติกรรม และเรียนรู้นักเรียนเป็นรายบุคคลรายลักษณะพฤติกรรมได้อย่างดี สามารถนำข้อมูลไปแก้ไขเฉพาะพฤตกรรม หรืองานที่มีข้อบกพร่องได้โดยเฉพาะ
การสร้างเกณฑ์ การประเมินแบบ Rubrics ครูผู้สอน ต้องกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือจุดประสงค์ที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นกับผู้เรียน กำหนดเกณฑ์การประเมินที่แสดงให้เห็นถึงระดับคุณภาพของนักเรียนแต่ละคน กำหนดระดับคุณภาพ โดยบรรยายคุณภาพของแต่ละระดับ สำหรับเป็นเกณฑ์ตัดสินนักเรียนหรือผลงานนักเรียน ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างเกณฑ์การประเมิน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจและสามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามที่นักเรียนต้องการ และจะชี้ให้เห็นถึงระดับของผลงานของนักเรียน การใช้ Rubrics ต้องอธิบายถึงผลงานของนักเรียนสัมพันธ์กับระดับคุณภาพใด นักเรียนสามารถประเมินผลงานว่าควรอยู่ในระดับใดได้ด้วยตนเอง ความสามารถของนักเรียนควรมีความเหมาะสมกับชิ้นงานคำอธิบายคุณภาพในแต่ละรายการให้มีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจในการปฏิบัติงานให้ได้ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่ง ตัวอย่างเกณฑ์ Rubric มีอย่างมากมาย สามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลงได้ ตามความเหมาะสม

แหล่งข้อมูล

07 April 2009

สร้างสรรค์WebQuest


การสร้าง WebQuest แบบปรับเปลี่ยนของผู้อื่น หรือ การ adapting
การสร้าง WebQuest ที่ไม่ต้องเริ่มสร้างเอง มีวิธีการคือนำของของผู้อื่นที่สร้างขึ้นแล้ว มาปรับเปลี่ยนรูปแบบ ให้เหมาะสมกับงาน หรือวัตถุประสงค์ของผู้สอน ซึ่งนำข้อได้เปรียบของ WebQuest จำนวนมาก ที่ผู้อื่นสร้างไว้มาใช้ มีขั้นตอนการทำคือ
1. เลือกหัวข้อ
ต้องเลือกหัวข้อการเรียนรู้ ที่ตรงกับเนื้อหาและกับจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดการเรียนรู้
2. การค้นหา WebQuests ที่มีอยู่
ค้นหา WebQuests ที่ดี ที่ตรงกับกิจกรรมการเรียน ที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้
3. ตรวจสอบว่าสามารถใช้ได้ ที่มีอยู่แล้ว อาจใช้ได้เลยตรงตามจุดประสงค์ หรืออาจต้องปรับเปลี่ยนบทเรียนบ้างเพียงเล็กน้อย เพื่อพัฒนาให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ ตรงกับที่สนใจ
4. เลือก WebQuests ที่มีศักยภาพ
อาจมี WebQuests ที่ ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ ที่เหมาะสมเพิ่มเติม ซึ่ง ควรจะมีคุณสมบัติเหล่านี้
1. เชื่อมโยงทุกสิ่งที่ปรากฏและมีความทันสมัย.
2. น่าสนใจ วางตัวสะกด ไวยากรณ์ อย่างอิสระ
3. ไม่มีข้อผิดพลาดด้านเทคนิค.
4. เป็นงานที่ถูกใจและต้องสูงกว่าระดับคิด
5. แนวการเรียนรู้ตรงกับหัวข้อการเรียนรู้
6. อ่านง่ายตรงกับระดับของนักเรียน
5. ระบุการแก้ไขที่ต้องการ
ศึกษาแต่ละบทเรียนมีรายละเอียดและควรแก้ไข อย่างไร เพื่อการใช้ประโยชน์ จากWebQuest ที่เต็มรูปแบบ
6. ขออนุญาตผู้คิดค้น
บางเว็บอาจใช้ได้เลย ยกเว้นในกรณีที่ผู้สร้าง WebQuest ได้บอกอย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นแก้ไข และรายงาน จึงต้องขออนุญาตผู้สร้างเสียก่อน
7. ดาวน์โหลด WebQuest
. โปรแกรม Internet Explorer เป็นเบราเซอร์ที่ใช้ในการเปิด ใช้เวอร์ชันของ Netscape หรือ Mozilla ที่ทันสมัย วิธีการคือไปที่เว็บไซต์และดูใต้เมนู File ในบราวเซอร์ เลือก แก้ไขเพจ จะมีสำเนาของเพจที่กำลังดูที่รวมถึงกราฟิกที่พร้อมจะแก้ไขเรียบเรียง
8. แก้ไขและเพิ่มประสิทธิภาพ
ทำรายการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงที่ได้ระบุในเนื้อหาให้ครบถ้วนเพื่อความมีประสิทธิภาพของ WebQuest
9.ประเมินและปรับตามต้องการ
เมื่อทดลองใช้ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคคลอื่น นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เหมาะสม
10. เผยแพร่และแบ่งปัน
ปรับปรุงเป็นบทเรียนใหม่ เพื่อส่งออกไปยังที่อื่น

อ้างอิง จาก http://webquest.sdsu.edu/adapting/index.html

22 March 2009

What is e-Learning and Blended learning

What is e-Learning. ? And About Blended learning.
e-Learning วิธีการเรียนผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใช้การนำเสนอเนื้อหาทางคอมพิวเตอร์ ในรูปของสื่อ มัลติมีเดี่ย ได้แก่ ข้อความอิเล็กทรอนิกส์ ภาพนิ่ง ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว ภาพสามมิติ ฯลฯ e-learning เป็นการ สร้างสิ่งแวดล้อม ทางการเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า เนื้อหาการเรียน ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านทาง มัลติมีเดี่ยนั้นสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนจากสื่อข้อความ เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การที่เนื้อหาการเรียนอยู่ในรูปของข้อความอิเล็กทรอนิกส์ (e-text) ซึ่งได้แก่ขอ้ความซึ่งได้รับการจัดเก็บ ประมวล นำเสนอ และเผยแพร่ทาง คอมพิวเตอร์จึงทำให้มีข้อได้เปรียบสื่ออื่น ๆ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน การเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ ด้วยความสะดวกและรวดเร็วความคงทนของข้อมูล รวมทั้งความสามารถในการทำข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลามีการพัฒนาขึ้นมาก ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในสหรัฐอเมริกานั้นนักเรียนมีส่วนร่วม ในการเรียน on-line มาก e-Learning เหมาะสมกับ การเรียนทางไกล และการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ทั้ง ยังสามารถใช้ร่วมกันกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน ที่ครูกับนักเรียน พบกัน หรือผสมผสานการเรียนรู้ที่ใช้นวัตกรรมหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน ที่เรียกว่า Blended learning ผู้ริเริ่มการเรียน E-Learning คือ Bernard Luskin argues บทบาทของครูผู้สอนที่จำเป็น ในการสอน แบบ e-learning และ Blended learning คือ การกำหนดแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้สะดวกขึ้น ครูต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้เทคโนโลยี การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและส่งเสริมให้พวกเขาเป็นผู้เรียนที่มีอิสระ Blended learning ทำให้ครูผู้สอน และนักเรียน ปรับตัวเข้าหากัน ในการสอนแบบใหม่ และ ประโยชน์ ของ e-Learning ที่สำคัญ คือการช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องใช้กระดาษ มีค่าใช้จ่ายต่ำ และมีความสะดวก และยืดหยุ่นในการกำหนดตารางเวลา เรียน แต่บางส่วนก็มีข้อเสีย กล่าวคือ เรื่องของการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต http://en.wikipedia.org/wiki/E-learninglearning ,http://en.wikipedia.org/wiki/Blended_learning