22 March 2010

ประสิทธิภาพของการประเมินเพื่อประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้

กระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นความมุ่งหวังของหลักสูตรการศึกษาใน ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ได้กำหนดชัดเจน ทั้งเป้าหมายของหลักสูตรในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจน รวมทั้งมาตรฐานการเรียนรู้ จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร จะสอนอย่างไร และจะประเมินอย่างไร คุณภาพดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนภาพการจัดการศึกษาว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่มาตรฐานการเรียนรู้กำหนดเพียงใด
การประเมินผลการเรียนรู้ มีความสำคัญยิ่งต่อการจัดการศึกษา เนื่องจากการประเมินผลการเรียนรู้ คือการแสวงหาและการแปลความหมายของหลักฐานข้อมูลที่ได้จากการประเมิน เพื่อที่ เพื่อที่จะทราบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่เพียงใด เพื่อให้ครูและนักเรียนนำข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้ในการตัดสินใจให้กับผู้เรียนว่าจะเรียนรู้สิ่งใด และทำอย่างไรให้ดีที่สุด รวมทั้งใช้ข้อมูลการประเมินผลไปใช้พิจารณาในการวางแผนพัฒนาการเรียนรู้ จึงจำเป็น ต้องมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นผู้สอนจึงต้องตระหนักว่าการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลเป็นกระบวนการเดียวกันและจะต้องวางแผนไปพร้อมๆกัน ซึ่งเมื่อครูได้มีการวางแผนในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพแล้วควรต้องวางแผนเรื่องของการวัดประเมินผลควบคู่กันไป
ในอดีตที่ผ่านมา การวัดและประเมินผลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อสอบ ซึ่งไม่สามารถสนองเจตนารมณ์การเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนคิด หรือลงมือปฏิบัติด้วยกระบวนการหลากหลายเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทั้งนี้หลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดของการประเมินผลการเรียนรู้ก็คือการประเมินผลจะช่วยผู้เรียนในการปรับปรุงการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนควรมีโอกาสได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงการเรียนของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษไทย เรื่องของการแต่งคำประพันธ์ และจัดให้มีการประเมินผล โดยให้นักเรียนแต่งคำประพันธ์ เมื่อครูประเมินผลงานที่ได้จากการเรียนรู้ พบว่า ผู้เรียนกลุ่มที่ 1 จำนวน 50 % สามารถแต่งได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์และเลือกสรรถ้อยมาใช้คำได้อย่างเหมาะสม ผ่านตามเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ และข้อมูลจากการประเมินยังพบว่า ผู้เรียนกลุ่มที่ 2 จำนวน 40 % สามารถแต่งคำประพันธ์ได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ แต่ยังเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้ไม่ดีนัก ข้อมูลยังพบเพิ่มเติมอีกว่า ผู้เรียนกลุ่มที่ 3 จำนวน 10 % ไม่สามารถแต่งคำประพันธ์ได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ และเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้ไม่เหมาะสมหรือใช้คำซ้ำๆกัน ซึ่งข้อมูลที่ผู้สอนได้มานี้จะเป็นส่วนสำคัญที่นำวิเคราะห์พิจารณาว่า จะพัฒนาผู้เรียนในกลุ่มที่ 2 และ 3 อย่างไร เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
สภาพความเป็นจริงของการศึกษาไทยในปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ายังพบว่าครูบางท่านอาจไม่มีเกณฑ์ในการประเมินผู้เรียนในการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านทักษะพิสัย และด้านเจตพิสัย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินชิ้นงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ การประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ พอตรวจผลงานนักเรียนครูก็ให้คะแนนตามความรู้สึก เช่น คะแนนเต็ม 10 ครูให้คะแนนเป็นตัวเลข บางคนได้ 10 คะแนนเต็ม บางคนได้ 7 คะแนน เขียนลงไปในผลงานนักเรียน แต่ไม่บอกว่าทำไมจึงได้คะแนนอย่างนั้น จะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากครูผู้สอนจะแจ้งให้นักเรียนทราบก่อนว่าต้องทำชิ้นงานอย่างไร จึงจะได้คะแนนเท่าไหร่ และเมื่อตรวจผลงานควรมีการอธิบายเสนอแนะให้นักเรียนทราบด้วยว่า การที่ได้ 10 เต็ม ผ่านอย่างไร ดีอย่างไรโดยยึดเกณฑ์การประเมิน ถ้าหากผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ บอกว่าไม่ผ่านเพราอะไร นักเรียนจะได้แก้ไขผลงานตรงตามที่ต้องการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือจัดการสอนเสริมเพิ่มเติมได้ตรงจุด Holly M. Searl ได้ เขียนเรื่อง Feedback : A Powerful Tool for Student Achievement in Language Arts ซึ่งกล่าวถึง เรื่องของการตรวจผลงานที่ให้เป็นค่าของคะแนนและมีการให้คำอธิบายแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมให้กับผู้เรียนด้วย ทำให้ผู้เรียนทราบว่าผลงานดีอย่างไร ควรแก้ไขเรื่องใดบ้าง เป็นการแจ้งผลย้อนกลับ (descriptive feedback) ว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและมีความสำคัญมากในการจัดการเรียนการสอน เป็นการให้โอกาสผู้เรียนเพื่อปรับเปลี่ยนและปรับปรุงการเรียนสู่มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งข้อความที่เขียนนั้น Holly M. Searl ยังแนะนำผู้สอน ว่าควรเขียนอธิบายในส่วนที่เน้นความสำเร็จ และจุดที่มีวิธีการปรับปรุง ซึ่งให้ความสำคัญไปที่ตัวผู้เรียนว่าต้องได้รับโอกาสได้ใช้ความคิดเห็นและความพยายามอีกครั้งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ครูต้องเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ ในการสอนเสริมเพิ่มเติม เช่นมีการให้ตัวอย่างประกอบ การใช้ภาพกราฟฟิกและแนะนำการเขียน การให้กิจกรรมนั่งร้าน(scaffolding) กับผู้เรียน หรืออาจถึงการสอนเนื้อหาใหม่อีกครั้งถ้าจำเป็น จะเป็นการดีหากครูทุกท่าน ให้ความสำคัญเรื่องของความแตกต่าง ของผู้เรียน เข้าใจ และช่วยเขาให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แม้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนเรียน วิธีประเมินในหลายๆอย่างก็ตาม
จากข้อมูลข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า การประเมินการเรียนรู้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการปรับปรุงการเรียนรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนด การวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ คือการวัดประเมินผลที่ตรงตามมาตรฐาน(Standards - Based Assessment)หรืออิงมาตรฐานการเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกำหนด
ผู้สอนซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ที่จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและประเมินผู้เรียนให้ได้ผลการประเมินที่ตรงกับข้อมูลที่เป็นจริง การนำผลการวัดประเมินผลมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งกระบวนการและองค์ประกอบของการประเมินที่มีคุณภาพนั้น ครูผู้สอนต้องเลือกรูปแบบวิธีการประเมินและเครื่องมือประเมินที่เหมาะสมกับบริบทของเนื้อหา และยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนอีกด้วย ดังนั้น จึงมีหลักในการวัดและประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประสิทธิผลของการจัดการศึกษา ดังนี้
หลักในการวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
1. สำคัญที่การวางแผน โดยให้การวัดประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการวางแผนในการจัดการเรียนการสอน การวางแผนของครู ควรให้โอกาสทั้งผู้เรียนและครูได้รับทราบข้อมูลและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นที่ตอบสนองกระบวนการคิดและการฝึกทักษะ รวมถึงการวางแผน กลยุทธ์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนเข้าใจเป้าหมายในการเรียนรู้ และเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน เพื่อเป็นการนำผลการประเมินการเรียนรู้ มาพิจารณาวางแผนหากลวิธีที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้ก้าวหน้าปละประสบความสำเร็จในการเรียนต่อไป
2. เน้นว่านักเรียนควรเรียนรู้อะไร อย่างไร การประเมินผลการเรียนรู้ควรเน้นที่วิธีการเรียนรู้ เมื่อมีการวางแผนการประเมินผล และมีการแปลข้อมูล จะทราบว่านักเรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร จะได้นำไปพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้มีความรู้และความสามารถตามมาตรฐานซึ่งถือเป็นความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน
3. เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการปฏิบัติการในชั้นเรียน สำหรับการเรียนรู้แล้ว การประเมินผลการเรียนควรจะเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติในชั้นเรียน ซึ่งโดยส่วนมากเป็นเรื่องที่ครูและนักเรียนสามารถอธิบายการประเมินผลได้ถึงภาระงานและคำถามได้อย่างเข้าใจ ทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะแสดงความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการเรียนรู้ เพื่อนำไปตีความและตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับครู และนักเรียนโดยตรง
4. เป็นทักษะวิชาชีพที่สำคัญสำหรับครู การประเมินผลการเรียนรู้ควรถือว่าเป็นทักษะวิชาชีพที่สำคัญสำหรับครู ครูต้องใช้ความรู้และทักษะวิชาชีพ ในการวางแผนการประเมิน ในการสังเกตการณ์เรียนรู้ ในการวิเคราะห์และตีความหลักฐานการเรียนรู้ ซึ่งครูควรมีสิ่งนี้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
5. เป็นการพัฒนาผู้เรียนและกระตุ้นการดูแลผู้เรียน การประเมินนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจ ครูควรจะตระหนักถึงผลกระทบด้านความคิดเห็นและผลการเรียน การประเมินจะส่งเสริมการกระตุ้นการดูแลผู้เรียนโดยเน้นที่ความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียนมากกว่าความล้มเหลว ซึ่งการประเมินสามารถทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในการเรียนและกระตือรือร้นใน การเรียนเป็นแรงจูงใจที่ดีในการพัฒนาการเรียนรู้ได้ ซึ่งแรงจูงใจยังสามารถสร้างสรรค์ผลย้อนกลับและสร้างทางเลือกที่ดีให้กับผู้เรียนได้
6. เสริมความเข้าใจจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้และเกณฑ์การผ่าน การประเมินผลการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงเป้าหมายในการเรียนรู้ และส่งเสริมความมุ่งมั่นในการเรียนกับเป้าหมายการเรียนรู้ และต้องเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องการให้บรรลุผลการเรียนรู้ ผู้เรียนมีความก้าวหน้าในการเรียน ซึ่งควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง และเข้าใจเกณฑ์การประเมินเพื่อผลของความสำเร็จของงาน
7. การประเมินผลช่วยผู้เรียนในการปรับปรุงการเรียนรู้ ผู้เรียนควรได้รับคำ แนะนำในการปรับปรุงการเรียนของตนเอง โดยใช้ข้อมูลการประเมินผลเพื่อนำมาวางแผนในการพัฒนาการเรียนรู้ความสามารถศักยภาพ และเพิ่มความสามารถในการแสวงหาและรับทักษะความรู้ ใหม่ๆ ซึ่ง ครูต้องจัดให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด

วิธีการวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ กับรูปแบบการประเมินที่หลากหลาย
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนด ตามที่กล่าวในตอนต้นว่า การวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ คือการวัดประเมินผลที่ตรงตามมาตรฐาน(Standards - Based Assessment) หรืออิงมาตรฐานการเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกำหนด ซึ่งการประเมินตามมาตรฐานนั้นเป็นการประเมินโดยใช้มาตรฐานการเรียนรู้เป็นตัวตั้ง เพื่อให้ครอบคลุมผู้เรียนที่แตกต่างกัน โดยที่การจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลนั้นต้องให้สอดคล้องกันไป ในปัจจุบันการประเมินผลตามมาตรฐานอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดี แต่ก็ต้องมีการสร้างมาตรฐานที่แตกต่างออกมาใช้อีกในอนาคตเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนมากขึ้น ส่วนการประเมินแบบอิงมาตรฐานเป็นการประเมินจากสิ่งที่หลักสูตรกำหนดทิศทางไว้ว่าต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถแสดงให้เห็นสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้อย่างแท้จริงจากผลงานที่นักเรียนปฏิบัติ สามารถปรับปรุงส่วนที่บกพร่องให้ดีขึ้นได้ การประเมินอิงมาตรฐานมีความสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และพัฒนาการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องเชื่อมโยงการประเมินเข้ากับหลักสูตร และองค์ประกอบอื่นของรูปแบบการเรียนรู้ด้วยแต่การประเมินแบบอิงมาตรฐานยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สำหรับการบ่งชี้ว่านักเรียนบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้หรือไม่และยังไม่สมบูรณ์พอที่จะตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนจากความสามารถที่นักเรียนได้รับจากการเรียนตามมาตรฐาน การประเมินอิงมาตรฐานต้องประเมินอย่างต่อเนื่องโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการช่วยผู้เรียนที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
Jennifer C. Greene and others (1989) ได้กล่าวถึงการประเมินทางการศึกษาว่าการประเมินมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นการหาทิศทางในการพัฒนาและปรับปรุง ประการที่สองเป็นการตัดสินประสิทธิภาพหลังจากที่ได้ดำเนินการสอนเสร็จสิ้นเพื่อให้ทราบว่าได้ผลเป็นอย่างไร โดยมีรูปแบบการประเมิน 2 รูปแบบ คือ Formative Assessment หรือการประเมินผลย่อยซึ่งเป็นการประเมินผลระหว่างเรียนตลอดเวลา และเป็นฐานของการประเมินที่นำไปสู่ Summative Assessment หรือการประเมินผลรวม ซึ่งเป็นขั้นการประเมินที่สรุปการเรียนการสอนแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการวัดประเมินผลมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงควรนำมาตรฐานการเรียนรู้มาเป็นตัวกำหนดและวางแผนในการประเมิน ทั้ง Formative Assessment และ Summative Assessment หรือที่เรียกว่า การวัดประเมินผลที่ตรงตามมาตรฐาน(Standards - Based Assessment) หรืออิงมาตรฐานการเรียนรู้ นั่นเอง
การวัดประเมินผลทำได้ในหลายขั้นตอนของการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ ก่อนเรียนระหว่างเรียน และหลังเรียน และมีรูปแบบการประเมินที่หลากหลาย ผู้สอนที่เอาใจใส่ผู้เรียนจะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้เรียนในบริบทต่างๆและมองเห็นพฤติกรรมการเรียน ความสำเร็จ และประสิทธิภาพของผู้เรียนมากที่สุด เป้าหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เรามุ่งหวังมากที่สุด คือเพื่อพัฒนาผู้เรียน และเป้าหมายของการประเมินผลคือการช่วยผู้เรียนให้ทราบถึงข้อดีข้อด้อยของตนในการเรียนรู้ และนำไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนรู้ Carol Boston (2002) กล่าวเกี่ยวกับการประเมินผลแบบ Formative Assessment ว่าครูสามารถเลือกใช้หลากหลายรูปแบบวิธีในการประเมินผลผู้เรียนในระหว่างเรียนเพื่อใช้ผลในการวัดนั้นไปปรับปรุงการเรียนการสอน ดังนั้น Formative Assessment จึงเป็นการประเมินที่ครูผู้สอนสามารถประเมินผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่องตามระยะที่กำหนด รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในข้อปฏิบัติที่ต้องแก้ไขให้ผู้เรียนได้รับทราบเพื่อนำไปปรับปรุงผลงานหรือผลการเรียนรู้จนสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Formative Assessment นี้ สามารถประเมินได้อย่างหลากหลายวิธี เมื่อประเมินแล้วนำผลการประเมินมาแปลข้อมูล ทั้งผู้สอน และผู้เรียนจะทราบว่าจุดประสงค์หรือตัวชี้วัดใดที่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ส่วนตัวชี้วัดใดยังไม่บรรลุเป้าหมาย จะได้นำมาพิจารณาวางแผนในการพัฒนาหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร หรือจะสอนเสริมเพิ่มเติมให้กับผู้เรียนอย่างไร เพื่อจะให้บรรลุตามตัวชี้วัดนั้นๆ
ทิวัตถ์ มณีโชติ (2549) ได้กล่าวถึงการวัดประเมินผลทางการศึกษาว่ามีหลักการเบื้องต้นที่สำคัญ คือ นิยามสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน การที่จะวัดให้มีคุณภาพต้องนิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ตรงและชัดเจน ใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ คุณภาพของเครื่องมือมีหลายประการ ที่สำคัญคือ มีความตรง (validity) คือวัดได้ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และมีความเที่ยง (reliability) คือวัดได้คงที่ คือวัดได้กี่ครั้งก็ให้ผลการวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลง และสุดท้าย คือกำหนดเงื่อนไขของการวัดให้ชัดเจน กำหนดให้แน่นอนว่าจะทำการวัดอะไร วัดอย่างไร กำหนดตัวเลขและสัญลักษณ์อย่างไร
โดยต้องไม่ลืมวิ่งที่สำคัญนั่นก็คือเครื่องมือและวิธีการประเมินต้องสอดคล้องกับกระบวนการเรียน การสอนของครูและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน

ขั้นตอนการวัดประเมินผลทางการศึกษา
Joy Frechtlingand others. (1997) กล่าวว่าไม่มีรูปแบบและวิธีการประเมินใดที่เหมาะสม และใช้ประเมินได้ทุกกรณี ที่มีการพัฒนาขยายการประเมินให้มีวิธีการประเมินที่ได้ผลการประเมินทั้ง ปริมาณ และ คุณภาพ เรียกว่าเทคนิคการประเมินผลด้วยวิธีผสมผสาน (Mixed Method Evaluations ) เป็นการการใช้เทคนิคของการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินนั้น มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น วิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ประโยชน์นำมาใช้ในการออกแบบวิธีการประเมิน การค้นหา การสรุป และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการพัฒนาการประเมินผลแบบ Formative Assessment นั้น มี 3สิ่ง ที่ครูผู้สอนควรคำนึงถึงคือ
1. การประเมินควรมีความยืดหยุ่น กลวิธีการประเมิน และเครื่องมือในการประเมินต้องมีความหลากหลาย ออกแบบให้สะดวกต่อการใช้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างเหมาะสมกับภาระงานที่กำหนด และคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน
2. การประเมินต้องมีประสิทธิภาพ มีวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อการเก็บข้อมูล ต้องสามารถรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนเพียงพอต่อการนำไปแปลผล
3. ต้องมีความถูกต้อง เมื่อประเมินแล้วต้องได้ข้อมูลที่มีความตรง ถูกต้อง เพื่อการนำไปวางแผนในการพัฒนาผู้เรียนได้ตรงกับความต้องการที่เป็นจริง
การเลือกกลวิธีการประเมิน และการเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบวัดทักษะ แฟ้มสะสมงาน สังเกตขณะปฏิบัติงาน บันทึกพฤติกรรม หรือเครื่องมืออื่นๆที่ผู้สอนจะคิดค้นหรือจัดหา ต้องมีความเหมาะสมสัมพันธ์กัน Jill Hearne (2001) กล่าวถึงการประเมินว่า การประเมินนั้นเป็นเครื่องมือของการจัดการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญของ การจับคู่กันระหว่างวิธีการประเมิน และเป้าหมายของการประเมินว่า ต้องสัมพันธ์กัน การเลือกวิธีการประเมินที่ถูกต้องจะทำให้บรรลุเป้าหมายของการประเมินได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการประเมินว่า เด็ก อ่านหนังสือได้หรือไม่ ครูบางท่าน ให้เด็กอ่านหนังสือ และประเมินด้วยการทำแบบทดสอบเป็นปรนัยแบบเลือกตอบ แทนที่จะประเมินโดยการให้ปฏิบัติด้วยการอ่านออกเสียงให้ฟัง ซึ่งไม่สัมพันธ์กันเลย หรือ การประเมินเรื่องของทักษะการพูด ก็ควรเลือกเครื่องมือประเมินที่สัมพันธ์ และวัดได้ตรง จริง เช่น ให้ออกมาพูดเล่าเรื่องหน้าชั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การประเมิน ต้องยึดหลัก ที่สำคัญ คือ มีวัตถุประสงค์ในการประเมินผลที่ชัดเจน เป็นเป้าหมายความสำเร็จ มีวิธีการแนะนำให้บรรลุป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม และแสดงตัวอย่างที่เหมาะสมกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้รวมทั้งป้องกันไม่ให้อคติและการบิดเบือนไปขัดกับการประเมินที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์
การจัดการศึกษาของไทยจะก้าวหน้า เด็กไทยจะมีคุณภาพการศึกษาที่ดี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการวางแผนพัฒนาการศึกษา ที่ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ส่วนครู ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา ว่า มุ่งในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ต้องสามารถนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ได้ และให้การวัดประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการวางแผนในการจัดการเรียนการสอน โดยคุณภาพ
ของการวัดประเมินผลต้องอิงมาตรฐานและควรคำนึงไว้เสมอว่า ประสิทธิภาพของการวัดประเมิน ผล ส่งต่อถึงประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ และนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง
ทิวัตถ์ มณีโชติ. 2549 . การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.
ศึกษาธิการ,กระทรวง. 2551. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2550. การเสริม ประสิทธิภาพการวัด และประเมินผลในชั้นเรียน. http://www.singarea.moe.go.th/
super-vi/ppt/super.ppt
Assessment Reform Group. 2002. Assessment for learning 10 principles http://arrts.gtcni.org.uk/gtcni/bitstream/2428/4623/1/Assessment%20for%20Learning%2 0-%2010%20principles.pdf
Boston, C. 2002. The concept of formative assessment. http://pareonline.net/ getvn.asp?v=8&n=9
Department of Education . 2002 Curriculum 2005 Assessment Guidelines for Inclusion.
http://www.up.ac.za/telematic/research/assessment/Documents/DoE%202002.pdf
Frechtling, J. and others. 1997. User-Friendly Handbook for Mixed Method Evaluations.
http://www.nsf.gov/pubs/1997/nsf97153/start.htm
Greene, J.C. and others. 1989. Toward a Conceptual Framework for Mixed-Method Evaluation Designs. http://www.jstor.org/pss/1163620
Hearne, J. 2001. Assessment as a Tool for Learning. http://www.newhorizons.org/ strategies/assess/hearne.htm
Herb, S. 2009 Standards Based Assessment for the CTE Classroom. http://www.slideshare.net/ccpc/standards-based-assessment-for-the-cte-classroom
McClafferty, T. and L .Rennie. 1996. Easy To Use Instruments For Formative Evaluation. http://archive.amol.org.au/evrsig/ pdf/mcclafferty96.pdf
Searl, H.M. Feedback : A Powerful Tool for Student Achievement in Language Arts
www.ed.gov/teachers/how/tools/initiative/summerworkshop/searl/searl.pdf
Unesco. 2004. Changing Teaching Practices: using curriculum differentiation to respond to students’ diversity. http://unesdoc.unesco.org/images/0013/001365/136583e.pdf

No comments: